พระเจ้าตอกสาน

พระพุทธรูปสานด้วยหวาย มีความวิจิตรพิสดารและแสดงถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างยิ่งของชาวพุทธพม่าที่มหาสารคามก็มีพระพุทธรูปแบบนั้นเช่นกัน ชื่อ “พระเจ้าตอกสาน”  ประดิษฐานอยู่ที่ วัดโคกสีนอก  หมู่ที่  9  บ้านสีเจริญ  ตำบลโคกสีทองหลาง  อำเภอวาปีปทุม ท่านเจ้าอาวาสคือ  พระอธิการดาวเรือง  เตชวโร  เป็นผู้เริ่มจัดสร้าง

ที่ไปที่มาของการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้มาจากอาจารย์ดาวเรือง ท่านเคยธุดงค์ไปในพม่า  เมื่อปี 2547  และ 2548  กับสหธรรมิกของท่านสองครั้งได้พบเห็นพระที่สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ลงรักในพม่าแล้วเกิดความประทับใจพอถึง ปี 2552  ท่านจึงติดต่อช่างฝีมือชาวพม่าให้ช่วยสร้าง  โดยไปตั้งกองสานพระกันที่วัดพระธาตุจอมก้อยในจังหวัดลำปาง  ใช้ตอกหรือผิวไม้ไผ่มาสานขึ้นรูปประกอบกับโครงพระที่เป็นเหล็กเส้น นอกจากช่างพม่าแล้วมีพระที่ลำปางเป็นลูกมือ  ไม้ไผ่นั้นชักลากมาจากฝั่งพม่า  เสียค่าไม้ไปราวสองหมื่นบาท  ส่วนค่าแรงสานพระรวมแล้วกว่าสองแสนบาท  ราคานี้รวมค่าแรงของช่างใหญ่ชาวพม่าและค่าแรงคนงานจักตอกด้วยแล้ว พอสานเสร็จส่วนพระพักตร์ใช้พระนาดูนที่ชำรุดแตกหัก ที่อาจารย์ดาวเรืองท่านเก็บสะสมไว้ มาบดละลายน้ำปั้นแต่งพระพักตร์และลงมือแต่งให้งดงาม  จากนั้นลงรักสีดำจนทั่วทั้งองค์ ใช้เวลาสร้างราวสองเดือน พอเสร็จแล้วก็ลำเลียงลงมาไว้ที่ศาลาการเปรียญตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 จนบัดนี้