สถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมแบบ Unseen ที่ยึดโยงความเชื่อ ความศรัทธา รวมถึงความรักสามัคคีของพี่น้อง 3 จังหวัดเข้าด้วยกันมาอย่างยาวนาน ประกอบด้วย อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอเปือยน้อย อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น
ตามคำเล่าขานของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าสือต่อกันมาว่า พระไม้ทรงยืนที่กู่ทองบ้านกุดหลวง ถูกแกะสลักสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวบ้านถิ่นนี้ ที่ตั้งศาลาประดิษฐานพระไม้รูปทรงแปลกตา นี้คือบริเวณที่เป็นกู่ดิน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีอภินิหาร พระเณรและชาวบ้านต่างร่ำลือถึงความเฮี้ยนและศักดิ์สิทธิ์ของท่านนัก
กู่ทองบ้านกุดหลวงนี้มีความสัมพันธ์กับ 3 สถานที่สำคัญ ตามเส้นทางอารายธรรมของโบราณได้แก่ กู่เปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น โดยกู่เปือยน้อยคือพระยาอุปฮาต (เปรียบเหมือนพระยาเมืองจังหวัด) กู่ทองกุดหลวง อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม คือ พระราชวงศ์ (เปรียบเหมือนพระยาเมืองอำเภอ) และดอนปู่ตาปอพาน อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ คือท้าวอุดม (เปรียบเหมือนเจ้าตำบล) ด้วยความศรัทธาและเคารพนับถือต่อองค์กู่ทอง จึงได้มีฮีตครองประเพณีวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เรียกว่าพิธีบวงสรวงสรงน้ำ ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 หลังจากงานบวงสรวงกู่เปือยน้อยในวันเพ็ญเดือน 5 บริเวณศาลพระไม้กู่ทองมีต้นจำปาคู่อายุเก่าแก่มาก ตั้งตระหง่านโดเด่นเป็นสง่าอยู่เบื้องหน้า เสมือนคอยปกปัดรักษาองค์พระและสร้างความร่มเย็นให้กับผู้คนที่เข้าไปกราบไหว้บูชา จุดเด่นที่ชวนมาชมจำปาคู่นี้ ก็ตรงที่มีลำต้นทอดเอนได้ระดับอย่างสวยงาม มีเกล็ดมังกรขึ้นตะปุ่มตะป่ำรองผิวเปลือกทั้งต้นอย่างงามคลาสสิกทั้งสองต้น โน้มกิ่งสอดประสานเป็นร่มเงาปกคลุมที่ประดิษฐานขององค์พระเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่ง ขอเชิญร่วมเดินทางย้อนรอยอารยธรรมแบบโบราณ “พระไม้ล้ำค่า จำปาพันปี” ได้ที่ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม