Skip to content
หน่วยตรวจสอบภายใน ให้มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ งานจัดทำแผนการตรวจสอบภายในประจำปี งานการตรวจสอบความถูกต้องและเชื่อถือได้ของเอกสารการเงิน การบัญชี เอกสารการรับการจ่ายเงินทุกประเภท ตรวจสอบการเก็บรักษาหลักฐานการเงิน การบัญชี งานตรวจสอบการสรรหาพัสดุและทรัพย์สิน การเก็บรักษาพัสดุและทรัพย์สิน งานตรวจสอบการทำประโยชน์จากทรัพย์สินของเทศบาล งานตรวจสอบ ติดตามและการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการให้เป็นไปตามนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและประหยัด งานวิเคราะห์และประเมินความมีประสิทธิภาพ ประหยัด คุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรของส่วนราชการต่าง ๆ งานประเมินการควบคุมภายในของหน่วยรับตรวจ งานรายงานผลการตรวจสอบภายใน งานบริการข้อมูล สถิติ ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแนวทางแก้ ปรับปรุงการปฏิบัติงานแก่หน่วยรับตรวจและผู้เกี่ยวข้อง งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ หน่วยงานตรวจสอบภายในขึ้นตรงต่อปลัดเทศบาล
กฎบัตรการตรวจสอบภายใน เทศบาลเมืองมหาสารคาม
กฎบัตรการตรวจสอบภายในฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบอ้างอิง และเป็นแนวทางการงานตรวจสอบภายในให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
และให้ผู้บริหารหน่วยรับตรวจและผู้ปฏิบัติงานได้เข้าใจเกี่ยวกับความหมาย วัตถุประสงค์สายการบังคับบัญชา อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ
และความรับผิดชอบตามผลงานหน้าที่ขอบเขตการปฎิบัติงานรวมถึงจรรยาบรรณการตรวจสอบภายในของหน่วยตรวจสอบภายในเทศบาลเมืองมหาสารคาม
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วย ก่อให้เกิดการประสานประโยชน์โดยรวมของเทศบาลเมืองมหาสารคาม
คำนิยาม
การตรวจสอบภายใน หมายถึงกิจกรรมการให้ความเชื่อมั่น และการให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรม และเป็นอิสระซึ่งจัดให้มีขึ้นเพื่อเพิ่มคุณค่างานของหน่วยรับตรวจให้ดีขึ้น
การตรวจสอบภายในจะช่วยลูกเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุมและการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ
หน่วยตรวจสอบภายใน หมายถึง หน่วยงานที่รับผิดชอบงานตรวจสอบภายในของเทศบาลเมืองมหาสารคาม
ผู้ตรวจสอบภายใน หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในของเทศบาลเมืองมหาสารคาม
หน่วยรับตรวจ หมายถึง ทุกสำนัก/กอง ในเทศบาลเมืองมหาสารคาม รวมทั้ง โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม
มาตรฐานการตรวจสอบภายใน หมายถึง กรอบแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในเพื่อให้มีผลการปฏิบัติงานเป็นที่น่าเชื่อถือและมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
จรรยาบรรณการตรวจสอบภายใน หมายถึง กรอบความประพฤติที่ดีงามที่ผู้ตรวจสอบภายในต้องพึงปฏิบัติตนในอันที่จะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรม เป็นอิสระ และเปี่ยมคุณภาพ
ความรับผิดชอบในผลงานตามหน้าที่
ในการตรวจสอบตามขอบเขตการปฏิบัติงาน หน่วยงานตรวจสอบภายในเทศบาลเมืองมหาสารคามได้ใช้ข้อมูล (เอกสารหลักฐาน) ของหน่วยรับตรวจเป็นข้อมูลหลักในการตรวจสอบ ซึ่งทางหน่วยรับตรวจเป็นผู้รับผิดชอบในความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูล (เอกสารหลักฐาน) ดังกล่าว หน่วยงานตรวจสอบภายใน เทศบาลเมืองมหาสารคามเป็นผู้รับผิดชอบในการรายงานผลการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2561
ขอบเขตการปฏิบัติงาน
-
งานให้ความเชื่อมั่น
-
การตรวจสอบด้านการเงิน (Financial Audit)
-
การตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance Audit)
-
การตรวจสอบด้านการดำเนินงาน (Performance Audit)
-
การตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology)
-
การตรวจสอบด้านการบริหาร (Management Audit)
-
การตรวจสอบด้านการปฏิบัติงาน (Operational Audit)
-
การตรวจสอบพิเศษ (Special Audit )
-
การบริการให้คำปรึกษา
จรรยาบรรณการตรวจสอบภายใน
ผู้ตรวจสอบภายใน พึงประพฤติปฏิบัติตนภายใต้กรอบความประพฤติที่ดีงาม โดยยึดหลักปฏิบัติจรรยาบรรณการตรวจสอบภายใน ดังต่อไปนี้
1. ความซื่อสัตย์ (Integrity)
ผู้ตรวจสอบภายใน ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ ปฏิบัติและสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และเปิดเผยข้อมูลตามวิชาชีพกำหนด โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย หรือไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำที่อาจนำความเสื่อมเสียมาสู่วิชาชีพการตรวจสอบภายใน หรือสร้างความเสียหายต่อราชการ
2. ความเที่ยงธรรม (Objectivity)
ผู้ตรวจสอบภายใน ต้องไม่พึงรับสิ่งของใดๆ และไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสร้างความสัมพันธ์ใดๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดอคติ ลำเอียงจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบได้อย่างเที่ยงธรรมหรือในการใช้วิจารณญาณเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพพึงปฏิบัติได้ ทั้งนี้ต้องเปิดเผยหรือรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญทั้งหมดที่ตรวจพบ ซึ่งหากละเว้นไม่เปิดเผยหรือไม่รายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว อาจจะทำให้รายงานบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงหือเป็นการปิดบังการกระทำผิดกฎหมาย
3. การปกปิดความลับ (Confidentiality)
ผู้ตรวจสอบภายใน ต้องมีความรอบคอบในการใช้และรักษาข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานรวมทั้งต้องไม่นำข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานไปใช้แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง และจะไม่กระทำการใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายและประโยชน์ของหน่วยงานรัฐ
4. ความสามารถในหน้าที่ (Competency)
ผู้ตรวจสอบภายใน ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักมาตรฐานการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ โดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในส่วนที่ตนมีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานเท่านั้น และต้องพัฒนาศักยภาพของตนเอง รวมทั้งพัฒนาประสิทธิผล และคุณภาพของการให้บริการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
หน้าที่หน่วยรับตรวจ
-
อำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลและคำชี้แจงเรื่องที่ตรวจสอบแก่ผู้ตรวจสอบภายใน
-
จัดเตรียมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานให้ครบถ้วน สมบูรณ์พร้อมให้ผู้ตรวจสอบภายในตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
-
ปฏิบัติตามข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจสอบภายใน ในเรื่องต่างๆ